วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นำกับการบริหารความขัดแย้ง


The distance between insanity and genius is measured only by success.-ระยะห่างระหว่างความวิกลจริตกับอัจฉริยะนั้นวัดกันที่ความสำเร็จ-Bruce Feirsteinผู้นำที่ดีนั้นมีจุดหมายที่เหมือนกันในทุกองค์กรนั่นคือต้องนำพาองค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จ และควบคุมคนในองค์กรให้ทำหน้าที่ของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเป้าหมายที่ตนเองหรือองค์กรตั้งเอาไว้ องค์กรที่มีขนาดใหญ่ทั้งจำนวนบุคลากรและงบประมาณ รวมถึงสินค้าที่ผลิตมีจำนวนมากหรือหลากหลายย่อมต้องเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานขององค์กรและนำผลการดำเนินการมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและทำวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ที่ถูกตั้งขึ้นโดยผู้บริโภคในตลาดว่าผลิตภัณฑ์ตัวใดเหมาะสมหรือไม่อย่างไร? เพื่อเอาไปปรับใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต ไม่เช่นนั้นก็จะถูกองค์กรอื่นหรือบริษัทคู่แข่งแย่งฐานลูกค้าไป

เป็นหลักการง่ายๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งใครๆ ก็ทราบแต่การนำไปปรับใช้นั้น น้อยคนนักที่จะประสบผลสำเร็จ และมีหลายคนที่ไม่เคยคิดจะทำตามหลักการที่ว่านั้นเลย นี่จึงเป็นเหตุให้มีคำว่าผู้นำที่ประสบผลสำเร็จและผู้นำที่ประสบความล้มเหลวในทุกองค์กรและทุกสังคมเมื่อมีคนอยู่กันเกินกว่าสองคนความเห็นที่ขัดแย้งกันหรือสวนทางกันก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เพราะพื้นฐานที่แตกต่างกันหลายอย่าง และการทำคนให้เป็นคนขึ้นมามันไม่ได้มีสูตรสำเร็จ กระทั่งพี่น้องเกิดมาติดๆ กันก็ไม่แน่ว่าจะเห็นตรงกันไปทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นไม่ว่าผู้นำในองค์กรหรือสังคมไม่ว่าบ้านหรือหมู่บ้าน เมือง จังหวัด ประเทศหรือระหว่างประเทศย่อมมีบทบาท และหน้าที่ที่สำคัญในการควบคุมและกำหนดทิศทางที่ชัดเจนโดยเอาเป้าหมายขององค์กรเป็นที่ตั้ง
ความขัดแย้งกันภายในสังคมหรือองค์กรนั้นไม่ว่าเรื่องอันใดหากถึงที่สุดแล้วมีบทสรุปก็จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่สังคมและองค์กรนั้นๆ อย่างเหลือเชื่อ แต่กว่าจะถึงจุดแห่งบทสรุปนั้น หน้าที่ต่างๆ ในการควบคุมสมาชิกหรือบุคลากรในสังคมและองค์กรเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้นำที่มีหน้าที่ทำให้ประเด็นขัดแย้งไม่นำมาซึ่งการโต้แย้งหรือนำมาซึ่งข้อขัดแย้งต่างๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์ต่องสังคมหรือองค์กรนั้นๆ การทำหน้าที่ของผู้นำหากมีขีดความสามารถอย่างถึงที่สุดแล้วก็จะสามารถนำสมาชิกหรือบุคลากรในสังคมหรือองค์กรนั้นๆ ไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ตั้งแต่แรกได้ โดยตนเองเป็นผู้นำที่คอยตัดสินใจว่าควรจะตัดสินใจในเวลาใด และนี่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับการเป็นผู้นำที่มีความสามารถ
หลักการประการแรกและประการสำคัญในการบริหารความขัดแย้งภายในสังคมหรือองค์กรก็คือจะทำอย่างไรให้สมาชิกในสังคมหรือบุคลากรในองค์กรเห็นความสำคัญของเป้าหมายและแก่นแท้จริงๆ ของจุดหมายปลายทางที่มีร่วมกันและประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันเมื่อพวกเขาเหล่านั้นนำพาองค์กรหรือสังคมไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ และจะทำอย่างไรที่จะทำให้สมาชิกในสังคมหรือองค์กรได้ตระหนักร่วมกันว่าความเห็นที่ขัดแย้งกันนั้นแต่ละคนมีเอกสิทธิ์ที่จะคิดและทุกคนในสังคมและองค์กรต้องเคารพความคิดของคนอื่นๆ ตลอดจนผู้นำต้องวางมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับให้คนในสังคมหรือองค์กรได้เห็นและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติของสมาชิกในสังคมหรือองค์กร
สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งนั้นมีหลากหลายแต่อาจจะนำมาแบ่งได้เป็นข้อใหญ่ๆ ได้ดังต่อไปนี้
๑.การสื่อสารที่ิผิดพลาดหรือล้มเหลวทั้งระดับผู้ปฏิบัติและผู้นำ
๒.การแสวงหาอำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ของบุคลากรในองค์กรหรือสมาชิกในสังคม
๓.การบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพของผู้นำและความอ่อนแอ
๔.การขาดศักยภาพในริเริ่มการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ๆ
๕.การเปลี่ยนแปลงของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ตัวบุคคลหรือตำแหน่งของผู้นำก็ตาม
เหล่านี้สามารถสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้ (นี่เป็นการมองในแง่ผลประโยชน์ขององค์กรและสังคมเป็นหลัก ไม่ได้เอาปัจจัยอื่นมาวิเคราะห์)
ผู้นำที่ดีเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นต้องนำความขัดแย้งนั้นมาวิเคราะห์ว่าระดับของความขัดแย้งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมหรือไม่ และเป็นหน้าที่ของผู้นำเองที่จะต้องตัดสินใจใช้เครื่องมือและอำนาจของตนที่มีอยู่ตัดสินความขัดแย้งเพื่อประโยชน์ขององค์กร เป้าประสงค์หลักของการบริหารความขัดแย้งจึงอยู่ที่ผลของความขัดแย้งและวุฒิภาวะของตัวผู้นำว่าจะสามารถนำความขัดแย้งนั้นมาสร้างเป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมได้มากขนาดใหน และชักนำบุคลากรหรือสมาชิกในองค์กรหรือสังคมให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หากตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จหรือเป้าหมายขององค์กรหรือสังคมแล้ว ความขัดแย้งนั้นก็จะมีประโยชน์ต่อทุกคนภายในองค์กรและสังคม
ที่บ่นมายืดยาวนี่ไม่ได้ต้องการแสดงความรู้หรือความเก่งกาจของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งกันนั้นไม่ว่าที่ใดในโลกหรือที่อื่นๆ เขาก็มีกัน และจะชี้ให้เห็นว่าผู้นำนั้นมีบทบาทที่สำคัญมากขนาดใหนในการทำความขัดแย้งนั้นในเกิดประโยชน์หรือทำในสิ่งตรงกันข้าม ความขัดแย้งกันในสังคมไทยเวลานี้อาจกินความหมายกว้างและลึกเกินกว่าจะมีทฤษฎีใดมาเปรียบเปรยได้ หรือมาประยุกต์ใช้ได้ แต่ความขัดแย้งนั้นไม่ว่าจะเกิดที่แห่งใดผลที่ออกมานั้นเหมือนกันสองประการคือถ้าไม่เกิดประโยชน์มหาศาลก็เกิดโทษผลร้ายแรงที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่อองค์กรหรือสังคมนั้นๆ
ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับใด หากเข้าใจหน้าที่ตนและสามารถทำงานภายในขอบเขตที่ตนรับผิดชอบและไม่ก่าวล่วงหรือทำเกินหน้าที่ตลอดจนไม่สร้างความไขว้เขวให้แก่สมาชิกหรือบุคลากร องค์กรนั้นๆ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ถึงแม้มีอุปสรรคก็สามารถใช้บุคลากรที่มีอยู่ฝ่าฟันอุปสรรคที่มีมานั้นได้ และในทางกลับกันหากผู้นำขาดซึ่งศักยภาพหรือไม่มีความสามารถในการทำหน้าที่ของตน รวมถึงไม่สามารถขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรได้ หนำซ้ำอาจเป็นผู้สร้างปัญหาใหม่ๆ ให้กับองค์กรต้องมาประสบอีก ผู้นำเช่นนี้สมควรแล้วหรือจะยังดำรงความเป็นผู้นำอยู่ต่อไปได้ แค่อยากให้คิดดูก็เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น